สุขภาพใจ คุยได้! มาฮีลหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า กับเคล็ด (ไม่) ลับหัดคุยกับแอปฯปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ฉบับเริ่มต้น

Insights

สุขภาพใจ คุยได้! มาฮีลหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า กับเคล็ด (ไม่) ลับหัดคุยกับแอปฯปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ฉบับเริ่มต้น

สุขภาพใจ คุยได้! มาฮีลหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า กับเคล็ด (ไม่) ลับหัดคุยกับแอปฯปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ฉบับเริ่มต้น

ในแต่ละวันที่เราต้องติดสปีดตัวเองเพื่อจัดการหลายสิ่งให้ทันอยู่ตลอดเวลา ทั้งตอบอีเมลลูกค้า ประชุมงาน ตามโซเชียล คิดสร้างสรรค์และแก้งานในเวลาเดียวกัน และยังต้องสะสางเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต เจอแบบนี้หลายคนคงรู้สึกกดดัน เหนื่อยล้าและบั่นทอนใจไม่น้อยเลย วิธีผ่อนคลายความเครียดของแต่ละคนอาจต่างกันไป ทั้งเล่นโยคะ ฟังเพลงผ่อนคลาย ดู Netflix เล่นนินเทนโด หรือแม้แต่การออกไปเดินเล่นข้างนอก      

แต่รู้หรือไม่ว่า แท้ที่จริงแล้วการพูดคุยหรือระบายความรู้สึกออกมาให้ใครสักคนฟังก็ถือเป็นยารักษาชั้นยอดได้เหมือนกัน เพราะนอกจากจะเป็นวิธีบาลานซ์สุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก และบางครั้งก็ช่วยให้เราเจอวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งตัวเราเองก็ยังมีบางครั้งที่รู้สึกว่าอยากจะคุยกับใครสักคน  

แต่ถ้าพูดถึงการพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตแล้ว ถือเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ สำหรับเรา จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เราได้มีโอกาสลองใช้แอปพลิเคชันปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต “Ooca” หรืออูก้า ในโปรแกรมสุขภาพของ บริษัทวีโร่  

สิ่งที่น่าสนใจคือคำแนะนำจากนักจิตบำบัดช่วยให้เราสามารถปลดล็อกปัญหาบางอย่างและรู้สึกรีเฟรชความคิดเกี่ยวกับงานได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือเปลี่ยนมุมมองเก่า ๆ ของเราเกี่ยวกับการบำบัดสุขภาพจิตที่ไม่เคยเปิดใจมาก่อนเลย แต่ก่อนจะเล่าประสบการณ์ใช้แอปฯครั้งแรกนี้ อยากให้ทุกคนเริ่มต้นเข้าใจก่อนว่าสุขภาพจิตคืออะไร และปัจจุบันคนมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่างจากอดีตมากน้อยแค่ไหน 

สุขภาพใจ คุยได้! มาฮีลหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า กับเคล็ด (ไม่) ลับหัดคุยกับแอปฯปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ฉบับเริ่มต้น

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทลายกรอบความเชื่อผิด ๆ ว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่อง “ไม่ควรพูด” 

หลายต่อหลายครั้ง ยังมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องของสุขภาพทางอารมณ์ (Emotional Well-being) เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เรื่องสุขภาพจิตยังรวมถึงการมีสุขภาวะและสัมพันธภาพที่ดีในสังคม (Social Well-being) ด้วย สุขภาพจิตเป็นตัวกำหนดวิธีที่เราจัดการกับความเครียด การสัมพันธ์กับผู้อื่น และการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ในขณะที่ฝั่งโลกตะวันตกมองการให้คำปรึกษาและการบำบัดสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ หากกลับมามองที่ฝั่งเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยบ้านเรา ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตยังคงถูกมองข้ามและไม่ค่อยมีใครพูดถึง เนื่องจากความเชื่อผิด ๆ และสังคมยังมีการตีตราว่าการบำบัดสุขภาพจิตแปลว่าจิตใจไม่ปกติและเป็นเรื่องน่ากังวลใจ 

โชคดีที่ทุกวันนี้ ผู้คนเปิดกว้างมากขึ้นและกล้าที่จะพูดถึงสุขภาพจิตและปัญหาชีวิตของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น ความเครียดและภาวะ burnout และสำหรับคนทำงานเอเจนซี่เอง ก็ยังเจอปัญหาเรื่องไทม์ไลน์เวลาการทำงานที่กดดัน การต้องจัดการงานหลายอย่างพร้อมกัน และภาวะกดดันจากลูกค้าที่มีความต้องการสูง เมื่อนานวันเข้า สิ่งเหล่านี้ก็สะสมทวีคูณและกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำร้ายสุขภาพจิตและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ง่าย ๆ 

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีคนหันมาใช้บริการแอปฯ ปรึกษาสุขภาพจิตกันมากมายทั่วโลก และคาดการณ์ว่าตลาดแอปฯ สุขภาพจิตจะเติบโตและมีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 การเจาะตลาดและความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของแอปฯเหล่านี้ ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวกสบายและง่ายดายกว่าที่เคย และเชื่อว่าอนาคตข้างหน้า บริการปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์เหล่านี้จะช่วยเปิดพื้นที่ดี ๆ ให้เราสามารถดูแลและพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสมและไม่เคอะเขิน เพราะการมีสุขภาพจิตที่ดีและการจัดการความเครียดอย่างตรงจุดจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น          

ในฐานะมือใหม่ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อรีวิวและบอกเล่าประสบการณ์การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตครั้งแรกของเราผ่านแอปฯ Ooca อย่างตรงไปตรงมา โดยรวบรวมทั้งข้อดี ข้อเสีย และวิธีเริ่มต้นใช้งาน มาเล่าสู่กันฟัง 

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเริ่มต้นรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต 

อนจะเริ่มต้นรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต มีข้อควรรู้ที่เราต้องพิจารณาและขั้นตอนที่ต้องทำก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าเราตัดสินใจถูกต้อง เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดจริง ๆ      

  1. ถามตัวเองว่าถึงเวลาขอความช่วยเหลือแล้วหรือยัง เช่น เมื่อเรารู้สึกวิตกกังวลมากกว่าปกติ หรือรู้สึกว่าเรากำลังแบกรับอะไรหนัก ๆ อยู่ และมีความรู้สึกเชิงลบมาก ๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันหรือการทำงาน หรือมองหาความช่วยเหลือหรือการรักษาเพิ่มเติม
  1. ยอมรับความรู้สึกของตัวเองและความทุกข์สับสนในใจ การซื่อสัตย์และเปิดใจกับตัวเองถือเป็นการให้เกียรติความรู้สึกของตัวเราเองมาก ๆ เพราะการข่มหรือกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้กลับจะยิ่งทำให้เรารู้สึกอึดอัดและเหนื่อยล้ายิ่งกว่าเดิม
  1. เขียนความรู้สึกและ/หรือความกังวลของคุณ การจดบันทึกหรือเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นออกมามีประโยชน์อย่างมากเพราะจะทำให้เราเข้าใจความคิดและความรู้สึกของตนเองได้ชัดเจนขึ้น และลดความวิตกกังวลลง การเขียนจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาที่ชัดเจนและแนวทางการแก้ไขความรู้สึกเชิงลบต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญ นอกจากนี้ยังช่วยให้สมองเรามีสมาธิมากขึ้น ช่วยให้เราทำงานให้สำเร็จได้มากกว่าที่เคย
  1. เปิดใจพูดคุยกับคนที่คุณรัก อย่าลังเลที่จะพูดคุยกับคนที่เรารักและไว้วางใจหากกำลังเจอกับปัญหา คนที่คุณรักจะคอยช่วยเหลือและอยู่เคียงข้างคุณ และนอกจากคุณจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นที่กล้าจะเปิดใจแล้ว คุณก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ได้กำลังเผชิญกับปัญหาเพียงแค่คนเดียว เพราะยังมีคนที่คอยอยู่ข้าง ๆ และพร้อมจะแก้ไขปัญหาไปด้วยกันนั่นเอง
  1. มองหาที่ปรึกษาพูดคุยแบบมืออาชีพ นอกจากเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่เราอาจรู้สึกว่าเหมาะสมกับตัวเรามากกว่าหรือเข้าถึงได้ง่ายกว่า เช่น บริการให้คำปรึกษาในที่ทำงาน นักบำบัดจิตที่ผ่านการฝึกอบรม เป็นต้นi

สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ไว้คือ การหานักบำบัดจิตที่คลิกและรู้ใจเราจริง ๆ แทบจะเรียกได้ว่าเหมือนหาเนื้อคู่เลยก็ว่าได้ เราอาจต้องลองหลาย ๆ ตัวเลือก จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้! ทุกวันนี้มีบริการสุขภาพจิตออนไลน์มากมายที่เราสามารถทดลองใช้จากที่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย 

Ooca อีกหนึ่งทางเลือกในการฮีลใจ 

อูก้า (Ooca) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตออนไลน์รายแรกและเป็นที่รู้จักอย่างดีในประเทศไทย อูก้าให้บริการคำปรึกษาผ่านการประชุมทางวิดีโอออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งใช้งานได้ 2 ช่องทางได้แก่ เว็บไซต์อูก้าและแอปพลิเคชันมือถือ 

อูก้ามีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้คนรู้สึกสบายใจและยอมรับมากขึ้นว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยได้ โดยผู้ใช้สามารถเลือกจับคู่พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญบนเว็บไซต์และแอปฯได้อย่างสะดวกสบาย เราสามารถเชื่อมต่อกับอูก้าได้จากทุกที่ด้วยความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยสูงสุด และสามารถเลือกที่จะเข้ารับการปรึกษาแบบไม่เปิดเผยตัวตนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสบายใจของเรา 

นอกจากอูก้าจะให้บริการบุคคลทั่วไปแล้ว อูก้ายังจับมือร่วมกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัทวีโร่ เพื่อให้การสนับสนุนและดูแลสุขภาพใจของพนักงานด้วย 

รีวิวประสบการณ์ใช้งานอูก้า 

  • ความง่ายในการใช้งาน User Interface ของอูก้าดูดีและใช้งานง่าย ขั้นตอนนัดหมายก็ทำตามได้ง่าย ๆ แอดมินหรือผู้ดูแลระบบดูแลช่วยเหลือลูกค้าเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาทางเทคนิค *ผู้ใช้จำเป็นต้องมีสัญญาณเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่แรงมากพอเพื่อเข้าถึงแอปฯหรือเว็บไซต์  
  • ประสิทธิภาพ สำหรับการปรึกษาครั้งแรก เราไม่รู้ว่าควรคุยกับที่ปรึกษาหรือนักบำบัดคนไหนดี ถ้ามีคำอธิบายหรือวิดีโอแนะนำผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนสั้นๆ ก็จะช่วยได้มาก และระยะเวลาพูดคุย 30 นาทีต่อครั้งอาจไม่พอสำหรับการให้คำปรึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนัดครั้งแรกที่นักจิตบำบัดต้องการทราบเรื่องราวของเราให้มากที่สุดเพื่อจะได้ให้คำปรึกษาที่ตรงจุดได้ คิดว่า 45 นาทีต่อการพูดคุย 1 ครั้งน่าจะตอบโจทย์มากกว่า 
  • ประสบการณ์บริการ การรับคำปรึกษาจากอูก้าอาจต้องใช้เวลา หมายความว่าต้องปรึกษาอย่างน้อย 4-5 ครั้งเพื่อให้เราได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ แอปฯค่อนข้างเหมาะมากกับคนที่ต้องการใครสักคนที่จะรับฟังและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้พูดคุยเกี่ยวกับความกังวลในใจ แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ต้องการคำแนะนำที่รวดเร็วและแก้ไขปัญหาได้เลย 
  • ฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ นอกจากบริการให้คำปรึกษาแล้ว ส่วนตัวรู้สึกว่าเนื้อหาออนไลน์ส่วนใหญ่ ทั้งบล็อกโพสต์และคลิปวิดีโอ YouTube ของอูก้า น่าสนใจและมีประโยชน์มาก เนื้อหาเหล่านี้อธิบายและมีการถกเถียงพูดคุยปัญหาสุขภาพจิตอย่างชัดเจนด้วยบทสนทนาที่สร้างสรรค์ และสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย 
สุขภาพใจ คุยได้! มาฮีลหัวใจในวันที่เหนื่อยล้า กับเคล็ด (ไม่) ลับหัดคุยกับแอปฯปรึกษาสุขภาพใจออนไลน์ฉบับเริ่มต้น

คำแนะนำที่ได้จากการคุยกับอูก้าลองใช้ความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงาน  

คำแนะนำที่เราได้จากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญของอูก้าใน 2 ครั้งแรก คือการใช้ความฉลาดทางอารมณ์ในการทำงาน ความฉลาดทางอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้เรารับมือกับความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัวและในการทำงานได้ดี และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในเชิงบวก สิ่งสำคัญคือเราต้องมีสติรู้ตัว ควบคุมและปรับอารมณ์ของเรา เปิดใจรับแง่มุมที่หลากหลาย และมีทักษะทางสังคมที่แข็งแรงเพื่อที่จะฟัง พูด และแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ แบบสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ  

ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหา เราต้องแยกความรู้สึกหรืออารมณ์ออกจากข้อเท็จจริง และเปลี่ยนมันเป็นแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้นหรือปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้ชัดเจนขึ้น มีความยืดหยุ่นและเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคราวที่ต้องพูด ก็อย่าลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งต่าง ๆ ควรเป็นอย่างไร 

สำหรับประสบการณ์พูดคุยปรึกษาสุขภาพใจครั้งแรกของเรา เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการเปิดใจและกล้าที่จะพูดคุยปัญหาที่อยู่ในใจของเรากับใครสักคน แทนที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงสิ่งที่ทำให้เรากังวลหรือเก็บสะสมเอาไว้ ในความคิดเรา แอปฯบริการด้านสุขภาพจิตถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะขยายมุมมองการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคนที่ยังไม่เคยลองใช้อูก้าหรือแอปฯที่คล้าย ๆ กัน เราขอแนะนำให้ลองใช้ด้วยใจที่เปิดกว้าง แล้วคุณจะได้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างคาดไม่ถึง คุณจะไม่เพียงรู้จักตัวเองดีขึ้นเท่านั้น แต่จะสามารถเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย และเราอาจได้รับคำแนะนำที่นำมาปรับใช้ได้จริง ๆ นอกจากจะช่วยให้เราจัดการปัญหาได้ดีแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกมีความสุข สบายใจ และมีสุขภาพใจที่แข็งแรงยิ่งขึ้นกว่าที่เคย  

เรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อเรามีสุขภาพจิตที่ดี เราจะรู้สึกมีจุดมุ่งหมาย มีทิศทาง พร้อมแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ และความสามารถในการจัดการกับเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดี หวังใจว่าบริการสุขภาพจิตออนไลน์เหล่านี้จะช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ที่ปลอดภัยให้ผู้คนได้เริ่มต้นลงมือดูแลปัญหาสุขภาพใจของตนเองอย่างจริงจัง เพื่อจะได้มีสุขภาพใจที่ดีในระยะยาว  

ลองเลือกบริการที่เราสนใจและเริ่มต้นพูดคุยดู ใครจะรู้ “เนื้อคู่” สุขภาพใจของคุณอาจจะอยู่แค่ปลายนิ้วคลิกถัดไปก็ได้ 

ALL OUR LATEST INSIGHTS ON EVERYTHING SOCIAL, DIGITAL, PR AND TECH